โรคที่พบบ่อยในสุนัขต้องระวัง 2565

การเลี้ยงสุนัขให้สุขภาพดีได้นั้น เจ้าของต้องใส่ใจดูแลและหมั่นสังเกตความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้สุนัขป่วยจนเกินเยียวยา หรือหากเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงบางชนิดก็อาจติดต่อไปสู่สัตว์เลี้ยงอื่นในบ้านและเจ้าของได้ด้วย เรามาดูกันว่าโรคที่พบบ่อยในสุนัขที่ต้องระวัง มีอะไรบ้าง

  1. โรคอ้วน – โรคอ้วนพบมากในสุนัขที่เจ้าของให้กินอาหารแบบเดียวกับคน ซึ่งจะมีปริมาณแป้งและไขมันที่สูงกว่าการกินอาหารเม็ดหรืออาหารกระป๋องของสุนัขทั่วไป ทั้งนี้ต้องควบคุมจำนวนมื้อให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสุนัขด้วย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นโรคอ้วนสังเกตจากพุงที่ใหญ่ และการเดินที่ช้าอุ้ยอ้าย และนำไปสู่การเป็นโรคความดันและไขมันสูงในสุนัขด้วย
  2. โรคพยาธิหนอนหัวใจ – พยาธิหนอนหัวใจนั้นมีพาหะนำโรคที่สำคัญคือ ยุง ดังนั้นต้องวางกรงเลี้ยงสุนัขในจุดที่ไม่เป็นมุมมืดหรือใกล้กับบริเวณน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หากสุนัขติดเชื้อแล้วจะมีอาการซึมไม่ร่าเริง เบื่ออาหาร เหนื่อยหอบง่าย และมีอาการท้องบวม หากนานเข้าพยาธิตัวแก่อาจไปอุดตันตามหลอดเลือดและทำให้เสียชีวิตได้
  3. ฟันผุ – แม้ว่าผู้เป็นเจ้าของส่วนใหญ่จะไม่ได้แปรงฟันให้สุนัข แต่วิธีการง่าย ๆ ในการกำจัดหินปูนและป้องกันฟันผุ ก็คือหมั่นให้สุนัขเคี้ยวขนมหรือของเล่นสำหรับสุนัขที่มีความแข็งพอเหมาะ มีแบรนด์สินค้าสุนัขชั้นนำมากมายที่ออกแบบดีไซน์ออกมาเพื่อตอบโจทย์นี้ มีการพัฒนาสี กลิ่น รส ที่ถูกใจสุนัขส่วนใหญ่ เช่น รสตับ รสเนื้อวัว รสไก่ ฯลฯ นอกจากลดปัญหาฟันผุได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหากลิ่นปากอีกด้วย
  4. โรคลำไส้อักเสบ – ปัญหาลำไส้อักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในอุจจาระ เมื่อสุนัขไปกินอาหารหรือน้ำจากแหล่งสกปรกที่มีการปนเปื้อนอุจจาระ เชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตามช่วงอายุที่สัตวแพทย์แนะนำจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด หากติดเชื้อแล้วจะมีอาการซึมลง อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือดและมีกลิ่นคาวเหม็นมาก หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ต้องรีบพาไปตรวจรักษาโดยทันที
  5. โรคพิษสุนัขบ้า – พิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส Rabies ที่สามารถติดต่อได้ระหว่างสุนัขและแมว เจ้าของจึงต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้เป็นประจำทุกปี เพราะเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากสุนัขติดแล้วก็จะส่งต่อทางน้ำลายไปสู่คนหรือสัตว์ที่โดนกัดได้ด้วย

โรคที่กล่าวมาทั้ง 5 โรคนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด คนที่เลี้ยงสุนัขจึงต้องศึกษาหาข้อมูลทั้งเรื่องของอาหาร ยา วัคซีน ตั้งแต่เริ่มคิดเลี้ยงสุนัข รวมถึงดูแลสุขลักษณะ พื้นที่อยู่อาศัยของสุนัขให้เหมาะสมด้วย จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น

โรคพิษสุนัขบ้า มหันตภัยร้ายสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง

ในอดีตพอเข้าช่วงหน้าร้อน มักจะได้ยินประกาศของกระทรวงสาธารณสุขทางโทรทัศน์หรือไม่ก็เสียงตามสายของเทศบาลหรือ อบต.ในหมู่บ้าน ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ให้เฝ้าระวังสุนัขจรจัดที่อาจเป็นต้นตอของโรคพิษสุนัขบ้า และคอยสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง แม้ว่าปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์พัฒนาไปไกล แต่ทว่ายังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและเฝ้าระวังโรคดังกล่าวนี้อย่างเป็นระบบ เช่น การทำหมัน ฉีดวัคซีนให้สุนัขจรจัด หรือตามที่สาธารณะต่าง ๆ อย่างเช่น วัดและตลาดสด ดังนั้นเราทุกคนจึงต้องระมัดระวังตนเองและอยู่ในความไม่ประมาท ต่อจากนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามาเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจและจะได้ช่วยกันหาทางป้องกันได้อย่างเหมาะสม

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการคิดค้นยาเพื่อใช้ในการรักษา จึงมีเพียงการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า เท่านั้น โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมอง ไขสันหลัง การเคลื่อนไหว และอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หมู หนู วัว ลิง ค้างคาว กระรอก กระต่าย ในประเทศไทยพบในสุนัขกว่า 95% รองลงมาพบในแมวและวัว ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงสามารถติดเชื้อได้โดยการสัมผัสเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผล และเยื่อเมือกในตาและปาก ที่ถูกกัด ข่วน หรือ เลีย เป็นต้น

อาการที่พบในคน หากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการในช่วง 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือนขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด และความลึกของบาดแผล ในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บ หรือคันอย่างมากในบริเวณที่ถูกกัด ระยะที่สองเริ่มมีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย กลืนลำบาก รวมถึงอาการกลัวน้ำ มีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะเสียชีวิตอย่างกระทันหันด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว

สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการที่เห็นได้ชัดเจนคือ หงุดหงิด ดุร้าย และก้าวร้าวกว่าปกติ สลับกับอาการเซื่องซึม ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ขากรรไกรค้าง กลืนอาหารลำบาก เสียงร้องเปลี่ยน เริ่มมีอาการชักกระตุกและเดินไม่สะดวก ควรรีบนำใส่กรง ไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที และกักบริเวณภายในบ้านอย่างน้อยประมาณ 45 วัน

วิธีปฏิบัติเมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นกัด

  1. รีบล้างบาดแผลให้เร็วที่สุด ด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด อย่างน้อย 15 นาที แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีนลงในบาดแผล เพราะจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแต่ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อหรือผิวหนัง เป็นต้น
  2. สังเกตอาการและลักษณะของสัตว์ที่กัด จากนั้นสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ภายในเวลา 10 วัน ถ้าสุนัขตายให้รีบนำซากไปให้แพทย์ตรวจทันที
  3. รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักไปด้วย (ถ้ามี) เพื่อประกอบการพิจารณาของแพทย์ 

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดทั้งปี ไม่เฉพาะแต่ในช่วงหน้าร้อน ทางที่ดีจึงควรนำ สุนัข แมว สัตว์เลี้ยง ไปฉีดวัควีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบ 2 ครั้งในขวบปีแรก ระหว่าง อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน จากนั้นฉีดกระตุ้นซ้ำตามกำหนดเวลาในทุก ๆ ปี และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราไปคลุกคลีกับสุนัขหรือแมวอื่น ๆ นอกบ้าน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ตัวคุณเอง และสวัสดิภาพของคนในชุมชนอีกด้วย 

หากต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อไปได้ที่ กรมควบคุมโรค สายด่วน 1422, สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590-3177-78, กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 4161-2, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โทร. 0-2252-0161-7, สำนักงานสาธารณะสุขและปศุสัตว์ในระดับอำเภอและจังหวัด ตลอดจนโรงพยาบาลสัตว์ทุกแห่ง

ชวนทำความรู้จักโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว

โรคพิษสุนัขบ้า หรือเรียกกันทั่วไปว่า โรคกลัวน้ำ นั้น เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies เป็นโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น สุนัข แมว ค้างคาว ลิง กระรอก กระแต รวมถึงคนด้วย ซึ่งหากดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกับกระสุนปืน เมื่อสัตว์ที่มีเชื้อนี้กัดคนหรือสัตว์อื่น จะทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ระบบประสาทอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจึงเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วัน

จากสถิติทางการแพทย์ พบว่าคนส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ผ่าน 3 ช่องทาง คือ

1. ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดหรือข่วน

2. ถูกสุนัขและแมวที่มีเชื้อโรคนี้เลียตามรอยแผลของผิวหนัง (เชื้ออาศัยอยู่ในน้ำลายสัตว์)

3. สูดดมอากาศที่มีเชื้อปริมาณมากในพื้นที่จำกัด เช่น ถ้ำที่มีค้างคาวอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

วิธีการสังเกตสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า

ในระยะ 2- 3 วันแรกของการติดเชื้อ สุนัขและแมวมักจะมีอารมณ์และอุปนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เดิมชอบอยู่คลุกคลีใกล้กับเจ้าของ ก็จะย้ายไปอยู่ในมุมเงียบ ๆ ตัวเดียว หรือถ้าเคยมีนิสัยขี้กลัว ก็จะมาคลอเคลียใกล้ชิดเป็นพิเศษ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังสังเกตได้ว่ามีไข้เล็กน้อย ม่านตาเบิกกว้าง กินอาหารและน้ำลดลง เนื่องจากการควบคุมการลิ้นเริ่มผิดปกติ
หลังจากนั้น สุนัขและแมวจะเริ่มมีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ตื่นตัว และมักกัดสิ่งที่อยู่รอบตัว (ถ้ามีการล่ามโซ่ก็จะกัดจนเลือดไหลออกจากปาก) ขณะเดียวกันก็จะร้องหอนมากขึ้นจนผิดสังเกต

วิธีการสังเกตสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า

ในระยะสุดท้าย เรียกว่า ระยะอัมพาต กรณีที่เป็นสุนัข ลิ้นจะสีแดงคล้ำและห้อยออกมานอกปาก น้ำลายไหลมาก ไม่สามารถควบคุมลิ้น มีอาการคล้ายจะขย้อนสิ่งที่อยู่ในลำคอเกือบตลอดเวลา และไม่สามารถทรงตัวได้ สำหรับแมว อาการอาจไม่ชัดเจนอย่างสุนัข แต่จะสังเกตได้ว่ามีความดุร้ายมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป สัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า มักจะตายในเวลาไม่เกิน 10 วัน

วิธีการป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า คือ การระมัดระวัง ไม่ให้แมวหรือสุนัขที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่มีเจ้าของ มาข่วนหรือกัด ถ้าเกิดแผลจากสัตว์เหล่านั้น ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ถูสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดด้วยแอลกอฮอล์หรือใส่ยาฆ่าเชื้อเบตาดีน แล้วไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป ทั้งนี้ ต้องทำการฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัดด้วย จึงจะปลอดภัยที่สุด อีกทั้งให้สังเกตอาการสัตว์ตัวนั้นในช่วง 10 วัน หากตายลง ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อสำรวจและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ต่อไป