ชวนทำความรู้จักโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว

โรคพิษสุนัขบ้า หรือเรียกกันทั่วไปว่า โรคกลัวน้ำ นั้น เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies เป็นโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น สุนัข แมว ค้างคาว ลิง กระรอก กระแต รวมถึงคนด้วย ซึ่งหากดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกับกระสุนปืน เมื่อสัตว์ที่มีเชื้อนี้กัดคนหรือสัตว์อื่น จะทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ระบบประสาทอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจึงเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วัน

จากสถิติทางการแพทย์ พบว่าคนส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ผ่าน 3 ช่องทาง คือ

1. ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดหรือข่วน

2. ถูกสุนัขและแมวที่มีเชื้อโรคนี้เลียตามรอยแผลของผิวหนัง (เชื้ออาศัยอยู่ในน้ำลายสัตว์)

3. สูดดมอากาศที่มีเชื้อปริมาณมากในพื้นที่จำกัด เช่น ถ้ำที่มีค้างคาวอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

วิธีการสังเกตสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า

ในระยะ 2- 3 วันแรกของการติดเชื้อ สุนัขและแมวมักจะมีอารมณ์และอุปนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เดิมชอบอยู่คลุกคลีใกล้กับเจ้าของ ก็จะย้ายไปอยู่ในมุมเงียบ ๆ ตัวเดียว หรือถ้าเคยมีนิสัยขี้กลัว ก็จะมาคลอเคลียใกล้ชิดเป็นพิเศษ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังสังเกตได้ว่ามีไข้เล็กน้อย ม่านตาเบิกกว้าง กินอาหารและน้ำลดลง เนื่องจากการควบคุมการลิ้นเริ่มผิดปกติ
หลังจากนั้น สุนัขและแมวจะเริ่มมีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ตื่นตัว และมักกัดสิ่งที่อยู่รอบตัว (ถ้ามีการล่ามโซ่ก็จะกัดจนเลือดไหลออกจากปาก) ขณะเดียวกันก็จะร้องหอนมากขึ้นจนผิดสังเกต

วิธีการสังเกตสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า

ในระยะสุดท้าย เรียกว่า ระยะอัมพาต กรณีที่เป็นสุนัข ลิ้นจะสีแดงคล้ำและห้อยออกมานอกปาก น้ำลายไหลมาก ไม่สามารถควบคุมลิ้น มีอาการคล้ายจะขย้อนสิ่งที่อยู่ในลำคอเกือบตลอดเวลา และไม่สามารถทรงตัวได้ สำหรับแมว อาการอาจไม่ชัดเจนอย่างสุนัข แต่จะสังเกตได้ว่ามีความดุร้ายมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป สัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า มักจะตายในเวลาไม่เกิน 10 วัน

วิธีการป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า คือ การระมัดระวัง ไม่ให้แมวหรือสุนัขที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่มีเจ้าของ มาข่วนหรือกัด ถ้าเกิดแผลจากสัตว์เหล่านั้น ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ถูสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดด้วยแอลกอฮอล์หรือใส่ยาฆ่าเชื้อเบตาดีน แล้วไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป ทั้งนี้ ต้องทำการฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัดด้วย จึงจะปลอดภัยที่สุด อีกทั้งให้สังเกตอาการสัตว์ตัวนั้นในช่วง 10 วัน หากตายลง ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อสำรวจและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ต่อไป

Tagged: Tags